วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

ตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange)

เมื่อผู้ส่งออกเสร็จสิ้นการตรวจปล่อยสินค้าแล้วก็ถึงขั้นตอนสำคัญ คือ การเรียกเก็บและชำระเงินค่าสินค้า  ซึ่งเอกสารที่ต้องส่งเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อนั้นกำหนดได้จากเอกสารที่สั่งซื้อเป็นสำคัญ เอกสารที่จำเป็น คือ ตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange) หรือ ดราฟท์ (Draft)”  เป็นตราสารที่ผู้ออกตราสารหรือผู้ออกตั๋วสั่งให้บุคคลหนึ่งจ่ายเงินให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 แบบหมายความเหมือนกัน และนิยมเรียกว่า ดราฟท์ ส่วนใหญ่หมายถึง ดราฟท์ของธนาคารเอง หรือเป็นตราสารที่ใช้ขึ้นเงินจากธนาคารอื่น
ดราฟท์ เป็นที่เข้าใจว่าเป็นตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่าย โดยมีส่งประกอบ 3 ฝ่าย คือ
§  ผู้สั่งจ่าย คือ ผู้ที่ออกตั๋วหรือเขียนตั๋วระบุชื่อผู้อื่นไว้ในตั๋ว
§  ผู้จ่าย คือ ผู้ที่ถูกระบุชื่อในตั๋วสั่งให้จ่ายเงินตามจำนวนที่ปรากฏในตั๋ว อาจถูกยื่นให้รับรองตั๋วในกรณีที่ตั๋วมีระยะเวลากำหนดเมื่อรับรองตั๋วแล้วคือ เป็นผู้ลงชื่อในด้านหน้าของตั๋วเป็นการรับรองว่าจะจ่ายเงินตามคำสั่งนั้น
§  ผู้รับเงิน คือ ผู้ที่จะได้รับเงินตามจำนวนที่ระบุไว้จากผู้จ่ายเงินแต่ผู้รับเงินก็อาจจะโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้อื่นได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ แล้วจะมีฐานะเป็นผู้สลักหลัง นั่นก็คือการลงชื่อไว้ด้านหลังของตั๋วเพื่อนโอนสิทธิ์ให้แก่ผู้รับโอน
*นอกจากนี้การที่ธนาคารผู้เรียกเก็บเงินนำตั๋วไปแสดงต่อผู้ซื้อนั้น ถือว่ายังไม่เพียงพอ จะต้องมีการรับรองตั๋วจึงจะสมบูรณ์ โดยเขียนคำว่า Accepted พร้อมกับประทับตราและลงลายมือชื่อเอาไว้เป็นหลักฐานตามปกติแล้วการลงลายมือชื่อที่ด้านหน้าของตั๋วเพียงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นการรับรองตั๋วและตั๋วนั้นก็จะมีค่าเท่ากับตั๋วสัญญาใช้เงินนั่นเอง
ตั๋วแลกเงินหรือดราฟท์ มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1. Sight Draft เป็นตั๋วเงินที่จ่ายเมื่อทวงถาม (On Demand) คือ ระบุให้จ่ายเงินเมื่อเห็นโดยเมื่อธนาคารผู้เปิดเครดิต (Issuing Bank) ได้รับดราฟท์จะเรียกให้ผู้ซื้อจ่ายเงิน และส่งเงินนั้นไปให้แก่ Negotiating Bank ทันที
2. Time Draft เป็นตั๋วที่จ่ายเงินตามระยะเวลาในวันข้างหน้าตามที่กำหนดไว้ (Deferred Payment) เช่น 15, 30 หรือ 60 วัน โดยจะเป็นการกำหนดระยะเวลาต่างๆ กัน คือ
2.1  Fixed Date ให้จ่ายในวันใดวันหนึ่งที่กำหนด ซึ่งจะระบุวันที่ถึงกำหนดได้เลย
2.2 Days after Date ให้จ่ายเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ นับแต่วันที่ออก Draft เช่น 30 Days after   Date of Draft
2.3  Day after Sight ให้จ่ายเงินเมื่อสิ้นเวลาที่กำหนดไว้นับตั้งแต่ได้เห็น (ตั้งแต่วันที่รับรองตั๋ว)
ตั๋วแลกเงินต้องมีข้อความต่อไปนี้
1. คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
2. คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินจำนวนแน่นอน
3. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้จ่าย
4. วันถึงกำหนดใช้เงิน
5. สถานที่ใช้เงิน
6. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงินหรือจ่ายให้แก่ผู้ถือ
7. วันและสถานที่ที่ออกตั๋ว
8. ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

*ข้อควรระวัง ในการส่งเอกสารให้แก่ผู้ซื้อเพื่อเป็นหลักฐานในการเตรียมตัวออกของ หรือติดตามสินค้า ต้องเป็นเอกสารที่ประทับตรา Copy Not Negotiate เพื่อ ผู้ซื้อจะได้นำไปออกของไม่ได้จนกว่าการชำระเงินตามตั๋วแลกเงินจะสมบูรณ์ ธนาคาร ผู้เป็นตัวแทนจึงจะออกเอกสารในการออกของให้แก่ผู้ซื้อ นำไปออกของเพื่อจำหน่ายต่อไปได้
     
ตัวอย่างตั๋วแลกเงิน


 

รายการในตั๋วแลกเงิน
รายการในตั๋วแลกเงิน
        ตั๋วแลกเงิน หมายถึง หนังสือตราซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่ายสั่งบุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า ผู้จ่ายให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ผู้รับเงินตั๋วแลกเงินจึงเป็นคำสั่งให้จ่ายเงินนั่นเอง
อนุมาตรา (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
        คำบอกชื่อว่าตั๋วแลกเงินมีความหมายสำคัญเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องรู้เห็นทราบได้ทันทีว่าตราสารนั้นเป็นตราสารพิเศษ และเนื่องจากเมื่อตราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้น ตั๋วเงินเป็นของใหม่ไม่สู้แพร่หลาย จึงต้องบัญญัติให้ระบุลงไปในตั๋วให้ชัดแจ้งว่าเป็นตั๋วแลกเงิน ประกอบกับ Uniform Law (1930) ซึ่งเราอาศัยเป็นหลักในการร่างกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน
        สำหรับตั๋วแลกเงินมาจากต่างประเทศ อาจไม่มีคำว่า ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เพราะบางประเทศ กฎหมายของเขาไม่บังคับให้ต้องระบุดังในมาตรา 909 (1) อย่างไรก็ดี คำบอกชื่อว่าตั๋วแลกเงินไม่จำเป็นต้องเขียนที่หัวกระดาษ อาจเป็นข้อความในตั๋วเงินว่า first of exchange ก็ได้
อนุมาตรา (2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน
        รายการนี้เป็นข้อบังคับเด็ดขาด ถ้าขาดไปจะไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน (มาตรา 910) ตามรูปตัวอย่างตั๋วแลกเงินคือ โปรดจ่ายเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาทถ้าไม่กรอกจำนวนเงินเสียเลยหรือกรอกจำนวนเงินมิได้เป็นไปตามที่ผู้สั่งจ่ายขอร้อง ตั๋วแลกเงินนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ อธิบายแยกได้เป็น 3 หัวข้อ คือ
ก. คำสั่ง หมายความว่า เป็นคำบงการหรือคำบอก เพื่อให้ทำหรือให้ปฏิบัติโดยไม่ให้โอกาสเลือกทำหรือเลือกปฏิบัติของผู้รับคำสั่งและมิใช่เพียงแต่คำขอร้องหรือคำอ้อนวอนที่ผู้รับคำขอร้องหรือคำอ้อนวอนจะทำตามหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ดี คำสั่งก็ไม่จำต้องเขียนลงไปในตัวแลกเงินตรงๆ ว่าข้าพเจ้ามีคำสั่งให้จ่ายเงินเพราะอาจใช้ถ้อยคำสุภาพลงไปในคำสั่งนั้นได้ เช่นโปรดจ่ายเงินซึ่งจะไม่ทำให้ตั๋วแลกเงินฉบับนั้นเสียไปเพราะมีความหมายเป็นข้อความกำหนดให้จ่ายเงินโดยผู้จ่ายไม่มีโอกาสเลือกจ่ายหรือไม่จ่ายตามอัธยาศัยของผู้จ่ายเช่นเดียวกัน
ข. อันปราศจากเงื่อนไข หมายความว่า ลักษณะสำคัญที่สุดของตั๋วแลกเงิน คือ ความแน่นอนที่ตั๋วแลกเงินจะต้องได้รับการจ่ายเงินตามตั๋วนั้น จะมีเงื่อนไขในการคำสั่งให้จ่ายเงิน ตั๋วแลกเงินนั้นย่อมเกิดความไม่แน่นอนขึ้น คำว่าเงื่อนไข หมายความว่า เหตุการณ์อันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน (เทียบมาตรา 182 เติมมาตรา 144) จึงต่างกับเงื่อนเวลา ซึ่งจะต้องมาถึงในอนาคตอย่างแน่นอน ดั้งนั้น ข้อความในคำสั่งให้จ่ายเงินจะเป็นเงื่อนไขหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความแน่นอนหรือไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งนั่นเอง
ค. ให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน หมายความว่า คำสั่งในตั๋วแลกเงินต้องเป็นคำสั่งจ่ายเงินถ้าเป็นคำสั่งให้กระทำการอย่างอื่นนอกจากเงินแล้วจะไม่ใช่ตั๋วแลกเงิน แต่ถ้ามีคำสั่งว่าให้จ่ายเงินและสิ่งของอื่นควบไปด้วย คงมีผลเฉพาะคำสั่งให้จ่ายเงินเท่านั้น ส่วนคำสั่งที่ให้จ่ายสินค้าที่ระบุไว้ ย่อมไม่มีผลแก่ตั๋วแลกเงิน (มาตรา 899) และถ้ามีคำสั่งให้ผู้รับตั๋วแลกเงินเลือกเอาว่าจะรับเงินหรือรับสิ่งของอื่นแทน ดังนี้น่าจะทำไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นคำสั่งที่ไม่แน่นอน คำว่า เงินหมายถึง เงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติเงินตรา ตั๋วแลกเงินโดยมากใช้ในระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงสั่งจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศก็ได้ (มาตรา 196) คำว่าเงินจำนวนแน่นอนหมายความว่า ต้องเป็นเงินจำนวนที่เที่ยงแท้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปทางเพิ่มหรือทางลดลงได้
อนุมาตรา (3) ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย
        รายการข้อนี้บังคับเด็ดขาด ถ้าขาดตกบกพร่องให้ถือว่าไม่เป็นตั๋วแลกเงิน (มาตรา 910)
        ผู้จ่าย คือ ผู้รับคำสั่งให้ใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน จึงจำเป็นที่ผู้สั่งจ่ายต้องระบุชื่อผู้จ่ายไว้ในตั๋วแลกเงิน ผู้จ่ายอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ และอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนร่วมกันจ่ายเงินก็ได้ เว้นแต่คำสั่งให้บุคคลหลายคนจ่ายเงินเรียงตามลำดับก่อนหลังโดยไม่ระบุให้รับผิดร่วมกัน หรือคำสั่งให้เลือกผู้จ่ายจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดในหลายคนที่ระบุโดยไม่ระบุให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดร่วมกันจ่ายเงิน ย่อมทำให้ไม่ทราบตัวผู้จ่ายที่แน่นอนทำให้ตั๋วแลกเงินนั้นเสียไป
        การระบุชื่อจ่าย อาจระบุเพียงตำบลที่อยู่ซึ่งเข้าใจกันก็ได้ การระบุชื่อผู้จ่ายที่ไม่มีตัวตนหรือสมมติขึ้น ก็ไม่ทำให้ตั๋วแลกเงินเสียไป เพราะมีรายการชื่อผู้จ่ายแล้ว และตั๋วแลกเงินไม่มีตัวผู้จ่าย ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดต่อผู้ทรง ส่วนยี่ห้อเป็นชื่อที่บุคคลใช้ในการค้า ไม่เป็นนิติบุคคล การระบุยี่ห้อเป็นผู้จ่ายต้องเข้าใจว่าหมายถึงบุคคลใด ถ้าไม่อาจทราบได้ ก็เท่ากับไม่มีตัวผู้จ่าย ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดต่อผู้ทรง ผู้จ่ายอาจเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้สั่งจ่ายตามที่ มาตรา 912 วรรคสอง บัญญัติว่าตั๋วแลกเงินจะสั่งจ่ายเอาจากตัวผู้สั่งจ่ายเองก็ได้
อนุมาตรา (4) วันถึงกำหนดใช้เงิน
วันถึงกำหนดใช้เงิน ย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ
1. ในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้
2. เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วนั้น
3. เมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น
4. เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น
        รายการนี้ถ้าไม่ระบุไว้ ไม่ทำให้ตั๋วแลกเงินเสียไป แต่กฎหมายให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น (มาตรา 910 วรรคสอง)
อนุมาตรา (5) สถานที่ใช้เงิน
        สถานที่ใช้เงินนั้น ตามความคิดธรรมดาที่ระบุไว้ก็เพื่อผู้ทรงจะได้รู้ตำแหน่งแห่งที่ในการที่จะเอาตั๋วไปขึ้นเงิน แต่ในกฎหมายตั๋วเงินนั้น ผู้จ่ายยังมิได้เข้าเป็นคู่สัญญาในตั๋วแลกเงิน สถานที่ใช้เงินจึงมีความสำคัญที่ผู้ทรงจะยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้ผู้จ่ายรับรองหรือเพื่อเรียกร้องให้ผู้จ่ายใช้เงิน ณ ที่ใดตามที่กำหนดไว้ในตั๋วแลกเงินนั้น ถ้าไม่มีสถานที่ใช้เงินตามที่ระบุผู้ทรงต้องทำการคัดค้านไว้ (ม. 962) จึงจะไม่เสียสิทธิไล่เบี้ย (ม. 973) กรณีที่ไม่ได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน มาตรา 910 วรรคสาม ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน
อนุมาตรา (6) ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินหรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
        รายการข้อนี้บังคับเด็ดขาด ถ้าขาดตกบกพร่องไปย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน ความสำคัญของชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินคือ ทำให้ผู้จ่ายทราบว่าจะจ่ายเงินให้แก่ใคร จะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาก็ได้ จะเป็นชื่อจริงหรือชื่อสมมุติ หรือตำแหน่งก็ได้ (ถ้าเป็นชื่อสมมุติและไม่มีตัวจริง กฎหมายอังกฤษให้จ่ายแก่ผู้ถือ แต่ของไทยไม่ได้ใช้อย่างนั้น)
อนุมาตรา (7) วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน
ก. วันออกตั๋วเงิน หมายความถึงวันที่ระบุในตั๋วเงินนั้นได้ออกเมื่อใด ซึ่งกฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องใช้ ตามวันแห่งปฏิทินดังนั้นอาจระบุอย่างอื่นได้ เช่น วันเข้าพรรษา ปี 2537 หรือ วันเฉลิมพระชนมพรรษา ปี 2538 เป็นต้น ความสำคัญ คือ
1) แสดงให้รู้กำหนดอายุของตั๋วเงิน ตามชนิดต่าง ๆ เช่น ชนิดใช้เงินเมื่อเห็น หรือ เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็นว่า ผู้ทรงต้องนำตั๋วยื่นให้ผู้จ่ายใช้เงินหรือรับรองภายในกำหนด
2) ตั๋วเงินชนิดที่ให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินนั้น วันออกตั๋วเงินมีความสำคัญที่จะต้องระบุไว้ในตั๋วนั้น
3) ต้องใช้ในการคำนวณดอกเบี้ย
- บุคคลที่จะลงวันออกตั๋วเงิน มีได้ 2 คน คือ (1) ผู้สั่งจ่าย (2) ผู้ทรง
1) กรณีผู้สั่งจ่ายเป็นผู้ลงวันออกตั๋วเงิน : ผู้สั่งจ่ายสามารถตั้งใจลงวันให้ผิดความจริงได้ คือ ลงวันย้อนต้น ลงวันถัดไป หรือ ลงวันล่วงหน้า ก็ได้
2) กรณีผู้ทรงเป็นผู้ลงวันออกตั๋วเงิน : ม. 910 วรรคห้า ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้และ มาตรา 932 วรรคแรกตั๋วแลกเงินฉบับใดเขียนสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินนั้น แต่หากมิได้ลงวันไว้ ฯลฯ ท่านว่าผู้ทรงจะจดวันออกตั๋ว ฯลฯ ลงตามที่แท้จริงก็ได้ แล้วพึงให้ใช้เงินตามนั้นหมายความว่า ในกรณีที่ผู้สั่งจ่ายมิได้ลงวันออกตั๋วเงินไว้เลย ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือผู้ทำการแทนผู้ทรงโดยชอบย่อมมีสิทธิที่จะจดวันออกตั๋วได้ แต่ต้องเป็นการจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงและการจดวันนั้นต้องจดโดยสุจริต คือ จดตามวันที่ผู้ทรงเชื่อหรือเข้าใจว่าเป็นวันที่ถูกต้องนั่นเอง
        ถ้าผู้ทรงจดวันลงไปไม่ตรงตามที่เป็นจริง ที่เรียกว่า ลงวันคลาดเคลื่อนหรือลงวันผิดนั้น ไม่ว่าผู้ทรงจะสุจริตหรือไม่สุจริตก็ตาม ถ้าตั๋วเงินนั้นโอนต่อไปยังผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนถัดไปแล้ว ก็ต้องบังคับตาม ม. 932 วรรคสอง อนึ่ง ท่านบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ทรงทำการโดยสุจริตแต่ลงวันคลาดเคลื่อนไปด้วยสำคัญผิดและในกรณีลงวันผิดทุกสถาน หากว่าในภายหลังตั๋วเงินนั้นตกไปยังมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ท่านให้คงเป็นตั๋วเงินที่ใช้ได้และพึงใช้เงินกันเหมือนดั่งว่าวันที่ได้จดลงนั้นเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริงที่กล่าวมาในข้อ 2 นี้เป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายไม่ได้ลงวันออกตั๋วไว้เลย
ข. สถานที่ออกตั๋วเงิน รายการนี้ไม่บังคับเด็ดขาด ม. 910 วรรคสี่ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
        ความสำคัญคือ เพื่อให้รู้ว่าเป็นตั๋วเงินภายในประเทศหรือตั๋วเงินออกมาแต่ต่างประเทศ และให้รู้ที่อยู่ผู้สั่งจ่ายในกรณีตั๋วเงินขาดความเชื่อถือโดยผู้จ่ายไม่รับรองหรือไม่ยอมใช้เงิน ผู้ทรงจะได้หาตัวผู้สั่งจ่ายพบ หรือจะได้ส่งคำบอกกล่าวได้ (ม. 963)
อนุมาตรา (8) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
รายการนี้บังคับเด็ดขาด ถ้าขาดย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน (ม. 910)
 
www.thailaws.com/aboutthailaw/knowledge_27.htm

1 ความคิดเห็น: